เกราะป้องกันผิวหน้าและผิวกายตามธรรมชาติ - Interpharma Group

เกราะป้องกันผิวหน้าและผิวกายตามธรรมชาติ

เกราะป้องกันผิวหน้าและผิวกายตามธรรมชาติ

.

Microorganism หรือจุลินทรีย์ คือ สิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ได้แก่ แบคทีเรีย รา ยีสต์ โปรโตซัว และสาหร่าย

.

จุลินทรีย์นั้น เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนโลกเรามาช้านาน บ้างอาศัยอยู่กับสิ่งแวดล้อม บ้างก็อาศัยอยู่กับสิ่งมีชีวิต มีทั้งสร้างประโยชน์ และโทษที่มีต่อมนุษย์  สัตว์ พืชและจุลินทรีย์ด้วยกันเอง  นอกจากนี้ยังมีความสามารถที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับสิ่งแวดล้อมในวงกว้างได้อีกด้วย นับว่าจิ๋วแต่แจ๋ว จริงๆ

.

“จุลินทรีย์ประจำถิ่นหรือ นอร์มอล ฟลอร่า (normal flora) มาอยู่กับเราตั้งแต่เมื่อไหร่?”

.

เริ่มต้นจากเด็กทารกในครรภ์มารดาจะไม่มีเชื้อจุลินทรีย์ในร่างกายเลย ทารกจะเริ่มได้รับเชื้อในขณะที่ผ่านทางคลอด โดยการสัมผัส กลืนกิน หายใจ และได้รับเชื้อปนเปื้อนมาในขณะที่เลี้ยงดู ในช่วงระยะเวลาแรกๆ ชนิดของจุลินทรีย์มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก จนกระทั่งเมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งจะมีจุลินทรีย์ประจำถิ่นที่ถาวร

.

ในตอนนี้จะขอยกตัวอย่างจุลินทรีย์ที่อาศัยที่ในกระเพาะอาหาร ในลำไส้ ช่องคลอด และผิวหนังเพื่อให้รู้จักโดยสังเขป

.

“จุลินทรีย์ทนน้ำกรด”

.

จะมีสิ่งมีชีวิตชนิดไหนบ้างที่อยู่ในสภาพที่เป็นกรดอย่างแรงชนิดที่ทำให้เนื้อสัตว์สดๆสุกได้ หรือแม้กระทั่งทำให้สนิมที่เหล็กหลุดได้ (ค่า pH 1-2) ได้ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ไม่ค่อยมีจุลินทรีย์จำนวนมากนักที่ปรับตัวให้อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ของกระเพาะอาหารมนุษย์ได้ ได้ยินไม่ผิด ที่ในกระเพาะเรามีความเป็นกรดขนาดนั้นมันจะไม่ย่อยกระเพาะเองหรือ เพราะที่ผนังด้านในของกระเพาะมีเมือกคอยเคลือบปกป้องอยู่นั่นเอง วันใดก็ตามที่เราทานอาหารไม่ตรงเวลาหรือทานยาแก้ปวดกลุ่ม NSAID ก็จะทำให้เมือกที่ผนังกระเพาะนี้ลดลง โอกาสที่จะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารก็มีสูงตาม

.

กลับมาที่กระเพาะต่อ  เรายังพบจุลินทรีย์ในกระเพาะอาหารอยู่บ้าง โดยจะเป็นพวกที่ทนกรดได้ เช่น แลกโตบาซิลลัส (Lactobacillus), ยีสต์ เป็นต้น และยังมีแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารของคนได้ ได้แก่ เฮลิโคแบกเตอร์ ไพโลไร (Helicobactor pylori) มันอยู่รอดในกระเพาะอาหารได้โดยสร้างสภาวะแวดล้อมเล็กๆ ที่เป็นกรดน้อยกว่าขึ้นมาล้อมรอบตัวมัน และฝังตัวอยู่กับเยื่อบุกระเพาะอาหารซึ่งมีสภาพเป็นกลาง H. pylori เป็นสาเหตุของแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งเมื่อก่อนเคยคิดกันว่าโรคกระเพาะเป็นโรคที่เกิดจากความเครียดและการทานยาที่มีผลข้างเคียงต่อกระเพาะมากไป แต่ปัจจุบันก็อาจรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ ปัจจุบันความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการทำให้เกิดโรคกระเพาะของ H. pylori ก็ยังคลุมเครือ เนื่องจากพบว่า คนที่มี H. pylori ในตัวนั้น มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เป็นโรคกระเพาะ นักจุลชีววิทยาจึงเสนอว่า H. pylori อาจเป็นจุลินทรีย์ประจำถิ่น และบางคนก็เชื่อว่ามันมีบทบาทสำคัญในการป้องกันสภาวะบางอย่างได้ เช่น ภาวะท้องเสียของทารก และโรคในหลอดอาหาร เป็นต้น

.

“โปรไบโอติกส์ในลำไส้”

.

ลำไส้มีแบคทีเรียกลุ่มต่างๆ อาศัยอยู่ ได้แก่ เอนเทอโรแบคทีเรีย, สเตรปโตคอกคัส, แลกโตบาซิลลัส, บาซิลลัส,    บิฟิโดแบคทีเรีย ลำไส้ใหญ่ถือเป็นถังพักให้แบคทีเรียเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการย่อยอาหาร ร่างกายจะย่อยอาหารจนอยู่ในรูปพอลิแซกคาไรด์ที่น้ำย่อยย่อยต่อไปไม่ได้ ซึ่งแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ส่วนต้นจะทำหน้าที่ย่อยต่อไป พอลิแซกคาไรด์เหล่านี้มาจากอาหารที่เป็นพืชผัก ซึ่งผลจากการย่อยจะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์เป็นกรดแลกติก และกรดไขมันสายสั้น เช่น สาร จำพวกอะซีเตต บิวไทเรต และโพรพิโอเนต เป็นต้น สารเหล่านี้ใช้เป็นแหล่งพลังงาน และแหล่งคาร์บอนสำหรับเซลล์เยื่อเมือก (mucosal cell) ของลำไส้ใหญ่ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ลำไส้ใหญ่เป็นอวัยวะแห่งการย่อยซึ่งมีแบคทีเรียทำการย่อยสลาย และสร้างสารต่างๆ อย่างแข็งขัน ซึ่งบางอย่างก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับตัวมันและเจ้าบ้าน แต่บางกรณี แบคทีเรียที่ลำไส้ใหญ่ เช่น แบคเทอรอยเดส (Bacteroides) ก็สร้างสารก่อมะเร็งที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ได้เช่นกัน

.

“จุลินทรีย์ที่จุดซ่อนเร้น”

.

ทำไมช่องคลอดต้องมีภาวะเป็นกรดเนื่องจากบริเวณช่องคลอดก็จะมีจุลินทรีย์ประเภทแบคทีเรียที่ชื่อ แลกโตบาซิลลัส แอซิโดฟิลัส (Lactobacillus acidophilus) ทำหน้าที่ย่อยสลายไกลโคเจนให้กลายเป็นกรดแลกติก และสารอื่นๆ ซึ่งมีผลในการยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ ยกเว้นพวกเดียวกันเอง ทำให้ค่าความเป็นกรดด่างของเยื่อบุช่องคลอดลดต่ำลงจน   ทำให้ยีสต์ รา เจริญไม่ได้

.

“อีกหลายล้านชีวิตบนพื้นผิวหนัง”

.

ผิวหนังมนุษย์มีจุลินทรีย์ทั้งหมดประมาณ 10ยกกำลัง12 เซลล์ (หนึ่งล้านล้านเซลล์) พื้นที่ผิวหนังของคนเรานั้นมีขนาดพื้นที่ประมาณสองตารางเมตร กระนั้นก็มีสภาพความแตกต่างที่หลากหลาย แต่โดยรวมแล้วผิวหนังคนเรานั้นมีสภาพที่ ค่อนข้างแห้ง เป็นกรดอ่อน มี pH 5-7 ทำให้จุลินทรีย์ส่วนใหญ่อยู่ไม่ได้  กระนั้นก็ยังมีจุลินทรีย์บางชนิดที่ปรับตัวและอาศัยอยู่บนผิวหนังมนุษย์ได้ ยกตัวอย่างเช่น โพรพิโอนิแบคทีเรียม แอกเนส (Propioni- bacterium acnes) เป็นแบคทีเรียแกรมบวกที่ไม่ใช้ออกซิเจน แหล่งอาศัยของพวกมันจึงเป็นรูหรือต่อมที่อยู่ลึกลงไปในผิวหนัง ซึ่งมีออกซิเจนต่ำ เห็นชื่อ P. acnes ก็คงจะเดาได้ว่าแบคทีเรียชนิดนี้เป็นตัวการทำให้เกิดสิว (acne) แต่ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปีก็จะไม่ค่อยพบจุลินทรีย์ชนิดนี้ นั่นเป็นเพราะวัยเด็กยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่ทำให้ต่อมไขมันใต้ผิว หนังเริ่มขับไขมัน (sebum) ออกมา ทำให้ P. acnes เพิ่มจำนวนขึ้น แม้ว่าเรื่องสิวจะเป็นเรื่องเล็ก แต่หาก P. acnes ครอบครองพื้นที่ผิวหนังมากเกินไป ก็จะเป็นช่องทางให้เชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่นที่อันตรายกว่าเข้าสู่ร่างกายได้ ง่ายขึ้น

.

สำหรับแบคทีเรียตัวหลักที่ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของผิวหนังก็คือ สแตฟิโลคอกคัส อีพิเดอร์มิดิส (Staphy-  lococcus epidermidis) เป็นแบคทีเรียแกรมบวกที่ปรับตัวได้เก่ง อาศัยอยู่ในร่างกายได้หลายที่ แต่ถ้าวันใดวันหนึ่งเจ้าถ้า S. epidermidis เผลอหลุดเข้าไปในร่างกาย หรือเรามีภูมิต้านทานร่างกายต่ำ เชื้อตัวนี้อาจกลายเป็น “เชื้อฉวยโอกาส” (opportunistic organism) ที่ทำให้เกิดโรคได้

.

ในตอนหน้าเราจะมาทำความรู้จักเวชสำอางทางการแพทย์ที่มีส่วนผสมของสารBioactive จากการทำงานของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพผิวหนังกันนะครับ

.

บทความโดย บทความโดย นพ.สมบูรณ์ รุ่งพรชัย

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย และเวชศาสตร์การกีฬา ศูนย์ Vitallife Wellness Center  ร.พ.บำรุงราษฎร์

เอกสารอ้างอิง

  1. http://www.vcharkarn.com/varticle/41142
  2. นิสากร ปานประสงค์. 2553. ชุมนุมจุลินทรีย์ในร่างกาย โลกใบใหญ่ในตัวเรา. อัพเดท, 25 (272), 37-43
  3. ชัยวัฒน์ กิตติกูล. 2550. เอกสารประกอบการสอนวิชาจุลชีววิทยาทั่วไป ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
  4. ธีระ ปานทิพย์อำพร. จุลินทรีย์ประจำถิ่นคืออะไร. วันที่เข้าถึงข้อมูล 11 พฤศจิกายน 2554 เข้าถึงข้อมูลได้จากhttps://www.myfirstbrain.com/student_view.aspx?ID=68955

.

ด้วยความปรารถนาดี

Interpharma Thailand