ฉลากโภชนาการ อ่านเป็นลดน้ำหนักได้ - Interpharma Group

ฉลากโภชนาการ อ่านเป็นลดน้ำหนักได้

ฉลากโภชนาการ อ่านเป็นลดน้ำหนักได้

สำหรับคนที่อยู่ในระหว่างลดน้ำหนัก เรื่องสำคัญที่ต้องระวังเป็นอย่างมากมักจะหนีไม่พ้นในเรื่องของพลังงานที่นำเข้าสู่ร่างกาย เนื่องจากในวัน ๆ หนึ่งเรากินได้อย่างจำกัดเพียงแค่ 1,000 – 1,200 กิโลแคลอรี ดังนั้นเวลาจะกินอะไรจึงต้องคิดดี ๆ ว่าเมื่อกินเข้าไปแล้วจะให้พลังงานเท่าไหร่ มีสารอาหารที่เราต้องการครบถ้วนหรือไม่


ปัญหาก็คือแล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าอาหารที่เรากินเข้าไปนั้นให้พลังงานมากน้อยเท่าไหร่? หากเป็นอาหารที่เรากินกันปกตินั้นอาจเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาได้ แต่ถ้าเป็นอาหาร, ขนม, เครื่องดื่มที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ ฉลากโภชนาการจะช่วยให้เรารู้ข้อมูลตรงนี้ได้ไม่ยากเลย


ฉลากโภชนาการ คือฉลากที่แสดงข้อมูลทางโภชนาการที่ติดอยู่บนบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม โดยจะระบุชนิดและปริมาณสารอาหารที่มีอยู่ในอาหารหรือเครื่องดื่มนั้น ๆ ลงในกรอบสี่เหลี่ยมหรือกรอบข้อมูลโภชนาการ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ คือ

  • ฉลากโภชนาการเต็มรูปแบบ เป็นฉลากแสดงชนิดและปริมาณสารอาหารสำคัญที่คนทั่วไปควรรู้ 15 รายการ ได้แก่พลังงานทั้งหมด พลังงานจากไขมัน ไขมันอิ่มตัว คอเลสเตอรอล โปรตีน คาร์โบไฮเดรตทั้งหมด ใยอาหาร น้ำตาล โซเดียม วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 แคลเซียม และธาตุเหล็ก
  • ฉลากโภชนาการแบบย่อ ใช้ในกรณีที่มีสารอาหารในอาหารหรือเครื่องดื่มเป็นปริมาณน้อยมากจนถือว่าเป็น 0 ตั้งแต่ 8 รายการขึ้นไปจากที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ 15 รายการ จึงไม่มีความจำเป็นต้องแสดงฉลากเต็มรูปแบบ


ในการอ่านฉลากโภชนาการนั้น สิ่งที่ต้องดูให้รู้ข้อมูลนั้นมีอยู่ 4 อย่างด้วยกัน ได้แก่ 1. ปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภค 2. จำนวนหน่วยบริโภคต่อภาชนะบรรจุ 3. คุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และ 4. ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน ซึ่งข้อมูลในแต่ละส่วนนั้นมีความหมายดังนี้

  1. ปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภค คือปริมาณอาหารที่ผู้ผลิตแนะนำให้ผู้บริโภครับประทานต่อ 1 ครั้ง โดยคำนวณจากค่าเฉลี่ยของคนไทยว่าหากรับประทานปริมาณเท่านี้จะได้รับสารอาหารตามที่กำหนดไว้บนฉลาก ซึ่งแสดงให้เห็นทั้งปริมาณที่เป็นหน่วยครัวเรือนอย่างกระป๋องหรือแก้ว และปริมาณที่เป็นมาตรฐานสากลอย่างกรัมหรือมิลลิลิตร ผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักจึงไม่ควรรับประทานอาหารเกินกว่าปริมาณดังกล่าว
  2. จำนวนหน่วยบริโภคต่อภาชนะบรรจุ คือ จำนวนครั้งในการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มนั้น ๆ จนหมด เมื่อรับประทานครั้งละหนึ่งหน่วยบริโภค เช่น หากชาผงสำเร็จรูปบรรจุขวดมีปริมาณ 85 กรัม แล้วหนึ่งหน่วยบริโภคเท่ากับ 1 ช้อนชา หรือ 0.7 กรัม จำนวนครั้งที่รับประทานได้จะเป็น 121 ครั้ง เป็นต้น
  3. คุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค คือ ปริมาณพลังงานและสารอาหารที่ผู้บริโภคได้รับเมื่อรับประทานอาหารชนิดนั้นหนึ่งหน่วยบริโภค โดยปริมาณดังกล่าวคิดเป็นร้อยละของปริมาณที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
  4. ร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน คือ ปริมาณสารอาหารในหนึ่งหน่วยบริโภคที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปริมาณสารอาหารที่แนะนำต่อวัน ซึ่งคำนวณจากพลังงานที่คนไทยโดยเฉลี่ยควรได้รับต่อวันหรือ 2,000 กิโลแคลอรี


ด้วยการเช็คข้อมูลตาม 4 ข้อข้างต้น จะช่วยให้เราได้รู้ว่าสิ่งที่เรากำลังจะกินเข้าไปนั้นให้ประโยชน์อะไรกับเราบ้าง มีสารอาหารอะไรเท่าไหร่ และมีพลังงานมากน้อยแค่ไหน แม้จะเสียเวลาอ่านสักเล็กน้อย แต่รับรองเลยว่าจะช่วยให้การลดน้ำหนักเป็นเรื่องง่ายขึ้น มีสุขภาพและรูปร่างที่ดีได้อย่างแน่นอน


ด้วยความปรารถนาดี
Interpharma Thailand