น้ำตาล ยิ่งกินยิ่งง่วง
น้ำตาล ยิ่งกินยิ่งง่วง
เวลาที่รู้สึกหมดแรงง่วงหงาวหาวนอนช่วงระหว่างวัน สิ่งที่หลาย ๆ คนมักจะหามารับประทานเพื่อแก้อาการง่วงนั้นมักจะหนีไม่พ้นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม เพื่อเติมความสดชื่นให้กับร่างกายให้มีเรี่ยวแรงในการทำงานต่อไป แต่งานวิจัยล่าสุดได้ระบุว่าการเติมน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายจะทำให้รู้สึกตื่นในเวลาสั้น ๆ เท่านั้น แถมยิ่งกินมากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งง่วงมากขึ้นอีกด้วย โดยเรื่องนี้ ทีมนักวิจัยจากสถาบัน Lyon Neuroscience Research Center and ESPCI Paris Tech ในประเทศฝรั่งเศส ได้ทำการวิจัยสมอง และค้นพบว่าน้ำตาลนั้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอนหลังอาหาร ซึ่งเป็นอาการที่ไม่สามารถป้องกันได้ ทีมงานวิจัยได้ทำการฉีดน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่สมองของหนูทดลองโดยตรง เพื่อเป็นการจำลองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ โดยเฉพาะมื้ออาหารที่เต็มไปด้วยคาร์โบไฮเดรต ซึ่งเป็นการเพิ่มระดับน้ำตาลในสมอง อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตได้แก่น้ำตาลและแป้ง ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลก้อน, น้ำผลไม้, แป้งชนิดต่าง ๆ, ข้าว, มันฝรั่ง ฯลฯ ในการทดลองนี้ นักวิจัยได้ทำการฉีดกลูโคสเข้าสู่สมองของหนูทดลองในส่วนที่เรียกว่า VLPO (Ventrolateral Preoptic Nucleus) ซึ่งนักวิจัยได้ค้นพบว่าเซลล์ประสาทของ VLPO นี่เองที่เป็นตัวผลักดันให้มีอาการง่วงนอนเกิดขึ้น และในความเป็นจริงนั้น ยังมีสารเคมีอีกหลากหลายชนิดที่สามารถนำส่งสัญญาณภายในสมองเพื่อลดการกระตุ้นเซลล์ประสาทที่เหนี่ยวนำให้เกิดอาการง่วงนอน ทำให้ร่างกายตื่นตัว แต่ผลวิจัยใหม่นี้ได้ค้นพบว่ากลูโคสนั้นให้ผลที่ตรงกันข้าม โดยกระตุ้นให้เซลล์เกิดอาการง่วงนอนแทน ในระยะเวลา 2 ชั่วโมงแรกหลังจากที่นักวิจัยได้ทำการฉีดน้ำตาลกลูโคสเข้าไป หนูทดลองตกอยู่ในภาวะหลับลึก ที่เรียกว่า “การนอนหลับช่วงคลื่นช้า” (Slow-wave sleep) ซึ่งแตกต่างจากการนอนหลับอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่าช่วง Rapid Eye Movement : REM (เป็นช่วงการหลับที่มักจะมีความฝันเกิดขึ้น) สิ่งที่ทีมนักวิจัยค้นพบก็คือ หนูทดลองที่ได้รับกลูโคสเข้าสู่สมองจะเข้าสู่ภาวะหลับลึกได้เร็วกว่าและหลับได้นานกว่าหนูทดลองที่ไม่ได้รับสารละลายกลูโคส นอกจากนี้ ผลการทดลองอื่นได้ค้นพบอีกว่า เซลล์ประสาท VLPO สามารถรับรู้ถึงปริมาณกลูโคสจากเซลล์ข้างเคียงได้โดยตรงอีกด้วย และยิ่งเซลล์ประสาทสามารถตรวจจับปริมาณกลูโคสได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดการส่งสัญญาณที่กระตุ้นการนอนหลับได้มากยิ่งขึ้นเท่านั้นอีกด้วย นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมเวลาที่เรารับประทานอาหารมื้อหนัก ๆ พอผ่านไปสักระยะหนึ่งจึงมีความรู้สึกง่วงเกิดขึ้น เช่นในช่วงพักกลางวันที่ออกไปรับประทานอาหาร เมื่อกลับขึ้นมาที่ออฟฟิศแล้วรู้สึกง่วง รวมถึงการรับประทานเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ที่แม้จะให้ความสดชื่นกระปรี้กระเปร่าได้ในช่วงต้น แต่ก็ทำให้รู้สึกง่วงนอนในเวลาต่อมา หากต้องการทำให้ร่างกายตื่นตัว สดชื่นกระปรี้กระเปร่า การรับประทานน้ำเปล่า หรือวิตามินรวมชนิดดูดซึมง่าย อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า และไม่ส่งผลข้างเคียงให้เกิดอาการง่วงนอนเพิ่มขึ้นด้วย ด้วยความปรารถนาดี ข้อมูลอ้างอิงจาก Journal of Neuroscience : Glucose Induces Slow-Wave Sleep by Exciting the Sleep-Promoting Neurons in the Ventrolateral Preoptic Nucleus: A New Link between Sleep and Metabolism
Interpharma Thailand