สุขภาพจิตดีเพราะมี “โปรไบโอติก”
สุขภาพจิตดีเพราะมี “โปรไบโอติก”
สุขภาพจิตดีเพราะมี “โปรไบโอติก”
หากพูดถึงสรรพคุณของ “โปรไบโอติก” โดยทั่วไปเรามักจะนึกถึงประโยชน์เพื่อช่วยในการขับถ่าย การปรับสมดุลภายในลำไส้ การกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยรวมของร่างกาย มากกว่าที่จะช่วยในเรื่องของสุขภาพจิต แต่งานวิจัยใหม่ได้มีหลักฐานที่ชี้ชัดว่า การรับประทานโปรไบโอติกนั้นส่งผลดีต่อสุขภาพจิต โดยมีผลลดความเครียด ภาวะวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า
โปรไบโอติกถูกเสนอให้ใช้เป็นการรักษาเสริม (adjunct therapy) ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี ด้วยคุณประโยชน์นี้ ทำให้โปรไบโอติกถูกนิยามศัพท์ใหม่เป็นไซโคไบโอติก (Psychobiotics) ซึ่งหมายถึงจุลชีพมีชีวิตที่เมื่อรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมแล้วก่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพในผู้ที่มีปัญหาทางจิตเวชนั่นเอง
โดยมีงานศึกษาหนึ่งที่จัดเป็น placebo-controlled study พบว่า Bifidobacterium infantis มีผลช่วยลดภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน โดยสัมพันธ์กับระดับของไซโตไคน์ที่กระตุ้นการอักเสบที่ลดลง (ไซโตไคน์ คือสารที่หลั่งจากเซลล์ต่าง ๆ ในภาวะที่ตอบสนองต่อภาวการณ์อักเสบ)
นอกจากนี้ในการศึกษาแบบ randomized, double-blind, placebo-controlled study พบว่าอาสาสมัครที่ได้รับโปรไบโอติกที่มีส่วนผสมของ Lactobacillus helveticus R0052 และ Bifidobacterium longum มีภาวะเครียดลดลง ร่วมกับการลดลงของระดับฮอร์โมนความเครียด cortisol ในปัสสาวะ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แสดงให้เห็นว่าโปรไบโอติกอาจมีผลลดภาวะเครียดผ่านการควบคุมระดับฮอร์โมนความเครียดด้วย
การศึกษาเกี่ยวกับสภาวะอารมณ์ พบว่าการรับประทานโปรไบโอติกส่งผลดีต่อสภาวะอารมณ์ของอาสาสมัครสูงอายุ (เฉลี่ย 61.8 ปี) ในการศึกษาดังกล่าว อาสาสมัครได้รับประทานนมที่มีส่วนผสมของโปรไบโอติกส์ Lactobacillus casei Shirota หรือยาหลอกทุกวันเป็นเวลา 1 เดือน ทำการประเมินสภาวะอารมณ์ทุก ๆ 10 วัน ในระหว่างการทดลอง ในการประเมินครั้งสุดท้าย (30 วัน) ผลการประเมินสภาวะอารมณ์พบว่าอาสาสมัครในกลุ่มที่ได้รับโปรไบโอติกส์รู้สึกมีความสุขมากกว่ารู้สึกซึมเศร้า
จึงอาจสรุปได้ว่าโปรไบโอติกในระบบทางเดินอาหารส่งผลต่อการทำงานของสมอง โดยมีบทบาทในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและมีผลต่อต้านกระบวนการอักเสบที่สัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้า ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตโดยลดความเครียด ความรู้สึกในด้านลบ ภาวะวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า อย่างไรก็ตามยังไม่มีการศึกษาการใช้โปรไบโอติกในผู้ป่วยซึมเศร้าโดยตรง จึงต้องทำการศึกษาต่อไป เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่แน่ชัดว่าต้องรับประทานโปรไบโอติกในชนิด ปริมาณ และระยะเวลาเท่าใด จึงจะได้ประโยชน์สูงสุด
ด้วยความปรารถนาดี
Interpharma Thailand
ที่มา: ปวริศ วงษ์ประยูร (2561), กลไกลการออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทของโปรไบโอติกส์และผลดีต่อสุขภาพจิต