แบบสำรวจ ตรวจความเสี่ยง “กระดูกพรุน”
แบบสำรวจ ตรวจความเสี่ยง “กระดูกพรุน”
โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) เป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาณแร่ธาตุในกระดูกลดลง บวกกับเนื้อเยื่อที่ประกอบขึ้นเป็นโครงสร้างภายในกระดูกมีความเสื่อมไป ทำให้เนื้อหรือมวลกระดูกมีความหนาแน่นลดลง ส่งผลให้เกิดการเปราะและแตกหักได้ง่าย
โดยส่วนมากแล้วโรคกระดูกพรุนมักพบในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปทั้งหญิงและชาย เนื่องจากเซลล์สร้างกระดูกมีจำนวนลดลงจนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่คุณควรรู้ไว้ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มคนประเภทเหล่านี้ อาจเป็นไปได้ว่าคุณเองก็มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนเช่นกัน ได้แก่
- เป็นผู้หญิง กระดูกพรุนมักเกิดขึ้นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากมีความหนาแน่นของมวลกระดูกน้อยกว่า ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อคุณผู้หญิงเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือน ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เนื้อกระดูกลดลงอย่างรวดเร็วด้วย
- คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคกระดูกพรุน หรือกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน
- ภาวะขาดฮอร์โมนเพศ โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้เซลล์สร้างกระดูกทำงานน้อยลง แต่เซลล์สลายกระดูกเพิ่มจำนวนและทำงานมากขึ้น
- ขาดการออกกำลังกาย ทำให้เซลล์สลายกระดูกเพิ่มจำนวนและทำงานมากขึ้น
- ขาดสารอาหารสำหรับการสร้างกระดูก ได้แก่โปรตีน แคลเซียม วิตามินดี และ CBP ซึ่งเป็นโปรตีนโมเลกุลต่ำที่พบในนม ทำหน้าที่ช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่กระดูก และชะลอการทำงานของเซลล์สลายกระดูกในเวลาเดียวกัน เป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยป้องกันภาวะกระดูกพรุนได้เป็นอย่างดี
- น้ำหนักตัวน้อยกว่ามาตรฐาน (ค่าดัชนีมวลกายต่ำกว่า 19 กิโลกรัม/ตารางเมตร)
- สูบบุหรี่เป็นประจำ ทำให้ร่างกายมีภาวะเป็นกรด ส่งผลให้แคลเซียมถูกสลายออกจากกระดูกเพื่อปรับสมดุลกรด-เบสในร่างกาย
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ รวมถึงชา กาแฟ ในปริมาณมาก ส่งผลต่อการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้เล็ก
- ดื่มน้ำอัดลมในปริมาณมาก
- รับประทานอาหารประเภทโปรตีนหรือเนื้อสัตว์มากเกินไป
- รับประทานอาหารเค็มจัดหรืออาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงเป็นประจำ
- การใช้ยาบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยาสเตียรอยด์, ยากันชักบางชนิด, ยาลดกรดที่มีอลูมิเนียมเป็นส่วนประกอบ, ยากดภูมิคุ้มกัน, ยารักษามะเร็ง เป็นต้น
- การรักษาโดยการฉายรังสี
- การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว
- เคยกระดูกหักจากภาวะกระดูกเปราะบาง
- เคยผ่าตัดเอารังไข่ทั้งสองข้างออกก่อนถึงวัยหมดประจำเดือน โดยไม่ได้รับฮอร์โมนทดแทน
- โรคเรื้อรังต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพ รวมถึงโรคที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิ เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน, โรคเบาหวาน, โรคคุชชิง, โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีความเสี่ยงตาม Check-list ด้านบนนี้ในข้อหนึ่งข้อใด ควรเริ่มต้นด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ หันมาออกกำลังกายมากขึ้น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และส่งผลต่อสุขภาพกระดูก ฯลฯ เหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุนได้ไม่น้อย
ด้วยความปรารถนาดี Interpharma Thailand
อ้างอิงข้อมูล: medthai