แสงสีฟ้า (Blue light) ทำร้ายดวงตาได้อย่างไร? - Interpharma Group

แสงสีฟ้า (Blue light) ทำร้ายดวงตาได้อย่างไร?

แสงสีฟ้า (Blue light) ทำร้ายดวงตาได้อย่างไร?

เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายก็เสื่อมถอยเป็นธรรมดา ไม่เว้นแม้แต่ “ดวงตา” ที่ต้องใช้งานเป็นประจำทุกวันตั้งแต่ตื่นเช้ายันเข้านอน ยิ่งในยุคปัจจุบันที่สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ทำให้ดวงตาที่ทำงานหนักอยู่แล้วยิ่งต้องทำงานหนักมากขึ้นไปอีกเนื่องจากต้องเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า “แสงสีฟ้า” และอาจทำให้ดวงตาเสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควร


แสงสีฟ้ามาจากไหน? โดยทั่วไปแสงที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้จะอยู่ในช่วงแสงสีขาว ซึ่งในแสงขาวนั้นเองสามารถแบ่งออกได้ 7 สี ได้แก่ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด และแดง แต่ละสีต่างก็มีความยาวคลื่นและพลังงานที่แตกต่างกัน โดยแสงสีฟ้าที่เป็นอันตรายจะมีความยาวคลื่นอยู่ที่ประมาณ 400 – 500 นาโนเมตร และมีพลังงานสูงใกล้เคียงกับรังสี UV อีกด้วย


ในแต่ละวันเราสามารถพบเจอแสงสีฟ้าได้จากแหล่งกำเนิดแสงหลายแหล่ง ไม่เฉพาะแต่จากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างสมาร์ทโฟนหรือจอคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ยังสามารถพบได้จากธรรมชาติทั่วไป เช่นแสงแดด ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแสงจากธรรมชาติที่มีความเข้มแสงมากที่สุด โดยแสงสีฟ้าที่ส่งผลเสียต่อดวงตานั้นจะอยู่ในช่วงคลื่น 415 – 455 นาโนเมตร ซึ่งเป็นช่วงคลื่นที่ส่งผลกระทบต่อจอประสาทตาโดยตรง โดยส่งผลเสียดังนี้

  1. เกิดอาการตาล้า เนื่องจากแสงสีฟ้าที่เราจ้องอยู่มีความสว่างมาก ทำให้ดวงตาต้องทำงานอย่างหนัก
  2. เกิดอาการตาแห้ง เนื่องจากอุปกรณ์ที่เราจ้องมองส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ทำให้ต้องเพ่งมากกว่าปกติ
  3. อาจทำให้จอประสาทตาเสื่อม เนื่องจากแสงสีฟ้าสามารถทะลุทะลวงและทำลายเซลล์รับแสงในจอประสาทตาได้ ส่งผลให้การมองเห็นส่วนกลางแย่ลง


การป้องกันไม่ให้ดวงตาได้รับแสงสีฟ้ามากเกินไปจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อไม่ให้ดวงตาเสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควร มีหลายวิธีที่เราสามารถดูแลและปกป้องดวงตาจากแสงสีฟ้าได้ ด้วย 7 วิธีง่าย ๆ เช่น

  1. ติดฟิล์มลดแสงหรือกรองแสงตามอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ถโฟน แท็บเล็ต หน้าจอคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
  2. ปรับแสงสว่างภายในห้องและหน้าจออุปกรณ์ให้เหมาะสม
  3. ปรับระยะห่างระหว่างระยะสายตากับหน้าจอให้อยู่ประมาณ 25 นิ้วขึ้นไป
  4. หากจำเป็นต้องมองหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ควรพักสายตาเป็นระยะ โดยยึดหลัก “20 – 20 – 20” คือการละสายตาจากหน้าจอและมองออกไปไกลระยะ 20 ฟุต ทุก ๆ 20 นาที เป็นเวลา 20 วินาทีต่อครั้ง จะช่วยลดอาการตาล้าได้
  5. ไม่ควรใช้สายตาในบริเวณที่มีลมเป่าตาโดยตรง เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการตาแห้งได้
  6. เมื่อรู้สึกตาแห้ง ควรใช้น้ำตาเทียมยอดตาเป็นระยะเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น
  7. เมื่อรู้สึกว่ามีปัญหาเกี่ยวกับดวงตา ควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพตาทันที


นอกจากนี้ การเลือกรับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงสายตาก็มีส่วนช่วยในการป้องกันดวงตาจากแสงสีฟ้าได้เช่นกัน เพราะดวงตาเรามีอยู่คู่เดียว และวิถีชีวิตในปัจจุบันทำให้เราต้องใส่ใจดูแลดวงตามากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ ควรดูแลใส่ใจเป็นพิเศษ จะช่วยลดความเสี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ และสามารถใช้สายตาได้อย่างไร้กังวล


ด้วยความปรารถนาดี
Interpharma Thailand

Astacusmin

แอสต้าเคอร์มิน

ชะลอวัยจากภายใน ห่างไกลจากความชรา และโรคเสื่อมต่างๆ ด้วย 2 สุดยอดสารต้านอนุมูลอิสระ และต้านการอักเสบใน Astacurmin