ไขมันในเลือดสูง มีอะไรที่ผู้ป่วยต้องระวังบ้าง?
ภาวะไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia) เป็นภาวะที่ร่างกายมีไขมันชนิดไม่ดี (LDL) และไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงเกินไป ขณะเดียวกันก็มีไขมันชนิดที่ดี (HDL) ต่ำ ส่งผลต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดโดยตรง และอาจนำไปสู่โรคร้ายอื่น ๆ อย่างโรคหัวใจ โรคสมอง และโรคเรื้อรังอื่น ๆ
โดยทั่วไป อาการของโรคไขมันในเลือดสูงนั้นมักไม่แสดงอาการออกมาให้เห็น แต่จะทราบได้จากการตรวจเลือดเท่านั้น แต่หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น มักจะเป็นอาการที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของอาการหลอดเลือดตีบตัน เช่น เจ็บแน่นหน้าอก หัวใจวาย อัมพาต ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
ไขมันในเลือดสูงสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ และที่ไม่สามารถควบคุมได้ สำหรับสาเหตุที่เราไม่สามารถควบคุมได้นั้นได้แก่
- พันธุกรรม โดยสามารถพบได้ประมาณ 1 ใน 200 ถึง 250 คนของประชากรทั่วไป เกิดจากยีนที่ผิดปกติ ทำให้ไขมันเลว (LDL) ในเลือดสูงตั้งแต่อายุยังน้อย
- อายุ โดยพบว่าเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ตับของเราจะมีความสามารถในการกำจัดไขมันชนิด LDL ได้ลดลง ทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูงได้ง่ายกว่าในวัยอื่น ๆ และน้อยลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น
- เพศ โดยทั่วไปเพศชายมักมีแนวโน้มที่จะมีภาวะไขมันในเลือดสูงมากกว่าเพศหญิง อย่างไรก็ตามสำหรับผู้หญิงที่พ้นวัยหมดประจำเดือน ความเสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน
- คนในครอบครัวมีประวัติพบว่ามีภาวะไขมันสูงหรือโรคหัวใจ ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะไขมันสูงได้เช่นเดียวกัน
สำหรับปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ และเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยพึงระมัดระวัง มีดังต่อไปนี้
- การรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์สูง เช่น อาหารทอด อาหารฟาสต์ฟู้ด ขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ
- การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง หรือแป้งขัดขาวมากจนเกินไป เป็นสาเหตุให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงขึ้น
- ขาดการออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวร่างกายน้อยเกินไป
- การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ทำให้ระดับไขมันในเลือดรวมสูงขึ้น ทั้งยังทำให้ไขมันดี (HDL) ลดลง
ดังนั้นสำหรับผู้ป่วยไขมันในเลือดสูง จึงจำเป็นต้องระวังในเรื่องต่าง ๆ ตามปัจจัยที่เราสามารถควบคุมได้ โดยในส่วนของอาหาร ควรจำกัดปริมาณและเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม ลดอาหารที่มีน้ำตาล หวานจัด, อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน, เครื่องในสัตว์, อาหารทะเลต่าง ๆ และหันมาเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวแทน รวมถึงเน้นการปรุงอาหารด้วยการต้ม นึ่ง อบ ตุ๋น ยำ แทนการผัดและทอด
ในส่วนของการออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วยการวิ่ง เดินเร็ว หรือขี่จักรยาน ควรทำอย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละ 3 - 4 ครั้ง ครั้งละ 30 - 40 นาที จะช่วยลดปริมาณไขมันในเลือด และช่วยเพิ่ม HDL ซึ่งเป็นไขมันดีได้ และที่สำคัญอย่างสุดท้าย งดสูบบุหรี่ จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อไม่ให้ร่างกายมีไขมันเลว (LDL) และไตรกลีเซอไรด์สูงจนเกินไป
ไขมันในเลือดสูงเป็นภัยเงียบที่ควรดูแลตั้งแต่เนิ่น ๆ หากไม่แน่ใจว่าเรามีความเสี่ยงหรือไม่ แนะนำให้ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อรับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างเพื่อลดความเสี่ยงจากโรค และมีสุขภาพดีในระยะยาว
ด้วยความปรารถนาดี
Interpharma Thailand