13 อาการที่อาจบอกว่าคุณเป็นโรคซึมเศร้า
13 อาการที่อาจบอกว่าคุณเป็นโรคซึมเศร้า
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในโลกยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สภาพเศรษฐกิจ สังคม และแรงกดดันรอบด้าน ทำให้หลายคนตกอยู่ในความเครียดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และบ่อยครั้งที่นำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว
จากข้อมูลของศูนย์โรคซึมเศร้าไทย กรมสุขภาพจิต พบว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปป่วยเป็นโรคซึมเศร้าสูงถึง 1.5 ล้านคน ดังนั้นเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคซึมเศร้าลง จึงควรรู้ว่าอาการแบบไหนที่เรียกว่าซึมเศร้า เพื่อให้สามารถประเมินตัวเองในเบื้องต้นได้ และรับการรักษาต่อไป
1. รู้สึกเศร้าหรือว่างเปล่า การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์เป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยอาจมีความรู้สึกเศร้าหรือหดหู่เป็นเวลานาน ไม่รู้สึกถึงความสุขใด ๆ ในชีวิต หมดอาลัยตายอยาก
2. รู้สึกสิ้นหวังหมดหนทาง มีความรู้สึกหดหู่ใจอยู่เสมอ และไม่ว่าใครก็ตามไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยซึมเศร้ารู้สึกดีขึ้นได้
3. รู้สึกตัวเองไร้ค่า หาความหมายของการมีชีวิตอยู่ไม่เจอ รู้สึกเป็นภาระกับคนอื่น ๆ และมีความเชื่อว่าครอบครัวหรือคนรอบ ๆ ตัวจะดีขึ้นถ้าไม่มีพวกเขา
4. รู้สึกผิดไปหมดทุกเรื่อง จมอยู่กับความรู้สึกผิดและรู้สึกแย่กับตัวเอง รวมถึงสิ่งที่ได้พูดหรือได้ทำลงไป แม้เหตุการณ์เหล่านั้นจะผ่านไปนานแล้วก็ตาม
5. หมดความสนใจหรือไม่มีความสุขในกิจกรรมที่เคยชอบ เช่น กีฬา, ดนตรี, ออกไปเที่ยวกับเพื่อน รวมไปถึงกิจกรรมทางเพศ
6. รู้สึกโกรธ – หงุดหงิดง่าย โดยผู้ชายจะมีอาการหงุดหงิดและโมโหมากกว่าผู้หญิง ทั้งนี้อาการดังกล่าวยังมีความเชื่อมโยงกับอาการซึมเศร้าอื่น ๆ ด้วย เช่น หากคน ๆ นั้นมีอาการนอนหลับไม่สนิทและรู้สึกเหนื่อย ก็อาจทำให้หงุดหงิดได้ง่ายเช่นกัน
7. รู้สึกเหนื่อยและหมดพลัง โดยอาจรู้สึกเหนื่อยล้าจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ตื่นเช้ายากเพราะรู้สึกเหนื่อยล้าและอ่อนเพลีย
8. นอนไม่หลับหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ 75% ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีอาการนอนไม่หลับ โดยอาจหลับเวลาดึกมากในตอนกลางคืน และตื่นแต่เช้าตรู่
9. สมาธิสั้น ลืมง่าย มีปัญหาเกี่ยวกับการตัดสินใจ ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน รวมถึงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน อะไรที่เคยจำได้ก็จำได้ไม่ดีเหมือนแต่ก่อน โดยอาจลืมนัดหมาย, คำสัญญา รวมถึงจำสิ่งที่ได้พูดหรือทำเมื่อเร็ว ๆ นี้ไม่ได้
10. รู้สึกเบื่ออาหาร มีความสนใจในการกินอาหารน้อยลง ส่งผลให้น้ำหนักลดลงได้
11. กินมากกว่าปกติจนน้ำหนักขึ้น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางรายอาจกินมากขึ้นเมื่อรู้สึกหดหู่ โดยอาหารอาจเป็นกลไกในการปลอบโยนความรู้สึกในด้านลบ หรือวิธีจัดการกับความเบื่อหน่ายและการอยู่อย่างโดดเดี่ยว และเนื่องจากโรคซึมเศร้าทำให้ผู้ป่วยขาดแรงจูงใจที่จะออกไปข้างนอกหรือออกกำลังกาย เมื่อรวมกับการกินอาหารที่เพิ่มมากขึ้น จึงอาจส่งผลให้น้ำหนักขึ้นได้
12. มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย รวมถึงอาการต่าง ๆ ทางร่างกาย เช่น ปวดหัว, โรคระบบทางเดินอาหาร, อาการปวดเมื่อยต่าง ๆ ที่ไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น
13. คิดถึงความตายหรือการฆ่าตัวตาย ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรงบางรายมักทำร้ายตัวเอง คิดฆ่าตัวตายด้วยวิธีการต่าง ๆ และบางรายอาจเล่าให้เพื่อนหรือคนรอบข้างฟังถึงวิธีการที่ตัวเองคิดได้ ซึ่งถือเป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือจากตัวผู้ป่วย และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยเป็นคนอ่อนแอ คิดมาก หรือเป็นคนไม่สู้ปัญหา เอาแต่ท้อแท้เศร้าซึม หากแต่เป็นเพราะตัวโรคที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเหล่านั้น หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม โรคก็จะทุเลาลง ผู้ป่วยก็จะกลับมามีสภาพจิตใจที่เป็นปกติ มีอารมณ์แจ่มใสเบิกบานได้ หากพบว่าเพื่อน, ญาติ หรือบุคคลใกล้ชิดมีอาการข้างต้นมากกว่า 5 อย่างขึ้นไป ควรติดต่อสายด่วนกรมสุขภาพจิตในเบื้องต้น โทร 1323 หรือปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางรักษาต่อไป
ด้วยความปรารถนาดี
Interpharma Thailand