4 อาหารที่ไม่เป็นมิตรกับ Probiotic ในลำไส้
เราทราบกันดีแล้วว่า Probiotic หรือแบคทีเรียตัวดีในลำไส้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกๆ กระบวนการทำงานในร่างกาย โดยเฉพาระบบขับถ่าย ภูมิคุ้มกัน และสุขภาพผิว ถ้าในลำไส้อุดมไปด้วย Probiotic หรือจุลินทรีย์ที่ส่งผลดีต่อร่างกาย ก็จะส่งผลให้สุขภาพโดยรวมของร่างกายดี ในขณะเดียวกันถ้าเราสูญเสีย Probiotic หรือพื้นที่ลำไส้ถูกยึดครองโดยแบคทีเรียที่เป็นพิษต่อร่างกายก็จะตามมาด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ตั้งแต่ท้องผูก-ท้องเสีย, ผิวหมองคล้ำ สิวขึ้น, อารมณ์แปรปรวน เครียดง่าย, ภูมิคุ้มกันต่ำ เจ็บป่วยง่าย ร่างกายอ่อนแอ
แทบจะเรียกว่าสัดส่วนของแบคทีเรียตัวดี และตัวร้ายตัดสินความสุขในชีวิตเลยครับ
ส่วนจำนวนของแบคทีเรียตัวดีตัวร้ายจะลดลงหรือเพิ่มขึ้นนั้น ขอบอกเลยว่าขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ง่ายกว่าที่คิดนั้นคือ “อาหาร” เพราะแบคทีเรียจะกินอาหารเหมือนกับสิ่งที่เรากินเข้าไป และแบคทีเรียแต่ละชนิดก็มีสิ่งที่ชอบไม่เหมือนกัน ดังนั้นถ้าเราหลีกเลี่ยงอาหารที่แบคทีเรียตัวดี หรืออาหาร Probiotic ไม่ชอบได้ ก็จะช่วยฟื้นฟูจำนวน Probiotic ไปในตัว
และนี่คืออาหาร 4 ชนิดที่คุณควรหลีกเลี่ยง เพราะทำให้จำนวน Probiotic ในลำไส้ลดลง
1) “อาหารไขมันสูงและน้ำตาลสูง” แบคทีเรียสายพันธุ์ดีๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายนั้น มีรสนิยมการรับประทานอาหารที่ใกล้เคียงกัน คือ ไม่ชอบอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง หากถูกเลี้ยงดูปูเสื่อด้วยขนมหวานๆ หรือาหารมันๆ เป็นประจำ เจ้าแบคทีเรียที่ดีจะลดจำนวนลงสวนทางกับแบคทีเรียไม่เป็นมิตรกับร่างกายจะเพิ่มจำนวนขึ้น แบคทีเรียไม่เป็นมิตรที่ชอบอาหารน้ำตาลและไขมันสูงนี้คือ แบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสารพิษ (Endotoxin) ในร่างกาย ส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรค เช่น เบาหวาน อ้วนลงพุง หลอดเลือดหัวใจ
2) “เนื้อแดง” เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะ เมื่อถูกส่งผ่านเข้าไปในลำไส้ จะถูกย่อยเป็นกรดอะมิโนต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ กรดอะมิโนแอลคาร์นิทีน เจ้าแบคทีเรียในลำไส้จะเข้ามาเก็บกินกรดอะมิโนนี้ และปล่อยของเสียตัวพี่ ซึ่งมีชื่อเรียกง่ายๆ ว่า TMA จากนั้นจะถูกเปลี่ยนเป็นของเสียตัวน้องคือ TMAO อีกที เจ้าสาร TMAO นี้เอง ที่เป็นสารอันตรายต่อหลอดเลือดต่างๆ ในร่างกาย นำมาสู่ความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง และโรคไตวายเรื้อรัง
3) “น้ำตาลเทียม” หลายคนติดรสหวาน แต่ต้องการดูแลสุขภาพ หรือลดน้ำหนัก จึงหันมารับประทานสารให้ความหวานสังเคราะห์ หรือน้ำตาลเทียมประเภทต่างๆ แต่งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า สารให้ความหวานเหล่านี้อาจไม่ใช่คำตอบ เพราะการหันมาใช้สารเหล่านี้ทดแทนน้ำตาล ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคอ้วนลงพุง หรือเบาหวานลง หนึ่งในกลไกที่อธิบายความล้มเหลวของน้ำตาลเทียม มาจากการที่น้ำตาลเทียมเหล่านี้ไม่ได้หอมหวานสำหรับแบคทีเรียในลำไส้ของเรา แต่กลับมีรสขมในแบบที่เจ้าแบคทีเรียดีๆ ไม่ชอบ การรับประทานเป็นประจำ จึงส่งผลกวนสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ให้ไม่เป็นปกติสุขได้
4) “สุรา” โก้วเล้งกล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้ามิได้นิยมชมชอบรสของสุรา แต่ชอบบรรยากาศในวงสุรา” แต่เจ้าแบคทีเรียรักดีทั้งหลายในลำไส้กล่าวเถียงไว้ว่า “ข้าพเจ้าไม่ชอบในรสของสุรา และจะหนีหายไปหากบรรยากาศลำไส้อุดมด้วยสุรา” มีก็แต่เจ้าแบคทีเรียไม่เป็นมิตรกับร่างกายเท่านั้นที่พร้อมจะร่ำสุรา และเจริญเติบโตจนเกิดภาวะที่แบคทีเรียในลำไส้ขยายประชากรมากเกินไป โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มแกรมลบ ซึ่งมีสารพิษ Endotoxin ส่งผลให้เกิดการอักเสบในร่างกาย และเป็นพิษกับเซลล์ในอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะตับ
การดูแลแบคทีเรียก็เหมือนกับการดูแลร่างกายของเราเอง หากเรามองให้รู้สึกน่ารัก น่าชังมากขึ้น ก็อาจมองเปรียบเทียบเจ้าแบคทีเรียมากมายเหล่านี้เป็นดั่งสัตว์เลี้ยง ที่เราต้องคอยเรียนรู้และเอาใจใส่ว่ามันชอบกิน หรือไม่ชอบกินอะไร เพื่อให้พวกเขารื่นรมย์ และช่วยดูแลเราไปนานๆ นั้นเอง
อ้างอิงข้อมูล : หนังสือ Microbiotia โดย พญ. ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล
ด้วยความปรารถนาดี
Interpharma Thailand