ปวดตา ตาแห้ง แสบตา อาการที่หนุ่มสาวออฟฟิศต้องระวัง - Interpharma Group

ปวดตา ตาแห้ง แสบตา อาการที่หนุ่มสาวออฟฟิศต้องระวัง

ปวดตา ตาแห้ง แสบตา อาการที่หนุ่มสาวออฟฟิศต้องระวัง

ในปัจจุบันที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แทบเล็ต ทั้งจากที่บ้านและที่ทำงาน การใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ติดต่อกันเป็นเวลานานส่งผลกระทบต่อดวงตาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้เกิดอาการปวดตา ตาแห้ง แสบตา หรือที่เรียกว่ากลุ่มอาการตาไม่สบายเมื่อติดจอคอมพิวเตอร์ – Computer Vision Syndrome (CVS)


โดยทั่วไปอาการเหล่านี้ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง แต่ทำให้รู้สึกไม่สบายตาและรบกวนการทำงานหรือการใช้ชีวิต โดยความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาในการใช้งานคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้แก่อาการเหล่านี้

  • อาการทางตา เช่น ตาแห้ง แสบตา ปวดตา ตาล้า ตาไม่สู้แสง โฟกัสได้ช้า รวมไปถึงตาพร่ามัว ที่สำคัญยังมีรายงานพบว่าระยะเวลาในการใช้งานคอมพิวเตอร์ มีความเสี่ยงทำให้มีค่าสายตาสั้นเพิ่มขึ้นอีกด้วย
  • อาการทางระบบกล้ามเนื้อ เช่น ปวดศีรษะ ปวดต้นคอ ปวดไหล่ ปวดหลัง


มีการศึกษาพบว่าร้อยละ 90 ของผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์มากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไปจะมีอาการข้างต้นเกิดขึ้นอย่างน้อยอาการหนึ่งจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดอาการเหล่านี้ เช่น แสงสว่างภายในห้องไม่เหมาะสม, มีการกระพริบตาน้อยลงขณะจ้องหน้าจอ, มีแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์, ระยะห่างและระดับสายตาในการมองจอคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงท่าทางในการนั่งทำงาน ล้วนเป็นปัจจัยที่โน้มนำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้ทั้งสิ้น


การป้องกันอาการ Computer Vision Syndrome สามารถทำได้ง่ายและมีหลายวิธีที่สามารถทำได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ข้างต้นเพื่อให้ตาสามารถทำงานได้อย่างสบาย โดยสามารถหลีกเลี่ยงได้ตามแนวทางเหล่านี้


1. ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์

  • ปรับความสว่างของหน้าจอให้พอดี ไม่มืดเกินไปจนต้องเพ่ง ไม่สว่างจ้าเกินไปจนแสบตา
  • ปรับสีของตัวอักษรและพื้นหลังให้มองเห็นได้อย่างชัดเจน
  • ใช้แผ่นกรองแสงติดบริเวณหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อลดแสงจ้าและแสงสะท้อน ช่วยให้ใช้งานได้สบายตามากขึ้น


2. ปรับแสงสว่างในห้องทำงาน

  • ลดแสงสว่างจากหลอดไฟเพดาน, โคมไฟโต๊ะทำงาน, ปิดม่านเพื่อลดแสงสว่างจากภายนอก เพื่อลดแสงสะท้อนที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ทำให้มองภาพได้ไม่ชัดและต้องเพ่งมากขึ้น
  • ติดโคมไฟที่โต๊ะทำงานเพื่อให้มองเอกสารได้ง่ายขึ้น โดยความสว่างอยู่ในระดับเดียวกันกับหน้าจอคอมพิวเตอร์


3. ปรับสถานที่และโต๊ะที่นั่งทำงาน

  • ปรับระยะห่างจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ถึงสายตา โดยควรห่างประมาณ 20 – 28 นิ้ว และปรับหน้าจอให้อยู่ต่ำกว่าระดับสายตาประมาณ 5 – 6 นิ้ว ให้สายตามองต่ำลงเล็กน้อย จะช่วยลดการเปิดกว้างของดวงตา และลดอาการต่าง ๆ ได้
  • จัดวางแป้นพิมพ์ให้อยู่ในระดับต่ำกว่าข้อศอก โดยให้ข้อมือและแขนขนานไปกับพื้น ข้อศอกตั้งฉาก ไม่อยู่ในลักษณะที่เอื้อมไปข้างหน้า
  • ระดับก้าอี้นั่ง ควรปรับให้สามารถนั่งวางเท้าบนพื้น เข่าตั้งฉาก หรือทำมุมมากกว่า 90 องศากับพื้น เพื่อให้นั่งแล้วรู้สึกสบาย นอกจากนี้เก้าอี้ควรมีพนักพิงที่เหมาะสม สามารถนั่งพิงหลังตรง สามารถพยุงกล้ามเนื้อหลังและไหล่ได้


4. พักสายตาระหว่างการทำงาน

  • ปฎิบัติตามกฎ 20-20-20 กล่าวคือ เมื่อใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานานประมาณ 20 นาทีเป็นต้นไป ควรละสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ และมองไกลออกไปประมาณ 20 เมตร ระยะเวลาประมาณ 20 วินาที เพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อดวงตา
  • เมื่อนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลา 2 ชั่วโมงเป็นต้นไป ควรหยุดพักสายตาและอาจลุกขึ้นเดินเพื่อให้ร่างกายได้เปลี่ยนอิริยาบถ จะช่วยลดอาการเมื่อยล้าและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้


5. กระพริบตาให้บ่อยมากขึ้น หรือใช้การหยดน้ำตาเทียมช่วย เพื่อช่วยลดอาการตาแห้ง ตาล้า แสบตา จะช่วยให้สบายตามากขึ้น


อาการ Computer Vision Syndrome แม้ไม่ใช่อาการที่รุนแรง แต่หากปล่อยไว้ไม่ดูแลหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็อาจนำไปสู่อาการที่รุนแรงได้ หากลองปรับเปลี่ยนตามแนวทางข้างต้นแล้วยังมีอาการอยู่ ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อทำการดูแลรักษาต่อไป เพื่อดูแลรักษาดวงตาให้อยู่กับเราไปได้นาน ๆ


ด้วยความปรารถนาดี
Interpharma Thailand

Astacusmin

แอสต้าเคอร์มิน

ชะลอวัยจากภายใน ห่างไกลจากความชรา และโรคเสื่อมต่างๆ ด้วย 2 สุดยอดสารต้านอนุมูลอิสระ และต้านการอักเสบใน Astacurmin