แนวทางปรับโภชนาการ สำหรับผู้ป่วยไขมันในเลือดสูง
ไขมันจัดเป็นหนึ่งในสารอาหารสำคัญที่ร่างกายต้องการ โดยเป็นแหล่งพลังงานและช่วยในการดูดซึมวิตามินหลากหลายชนิด ช่วยผลิตฮอร์โมนต่าง ๆ ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย รวมถึงทำให้ระบบเผาผลาญเป็นปกติ ทั้งนี้หากภายในร่างกายมีปริมาณไขมันสะสมสูงเกินไป ก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและนำไปสู่โรคร้ายได้เช่นกัน เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและการเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ร่างกายสามารถควบคุมระดับไขมันในเลือด (ไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลชนิด LDL) ให้อยู่ในระดับปกติและช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยเฉพาะการปรับโภชนาการให้เหมาะสมด้วยแนวทางต่าง ๆ ดังนี้
1. จำกัดปริมาณ หรือลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น อาหารประเภทเนื้อแดง เนื้อสัตว์แปรรูป รวมถึงผลิตภัณฑ์จากนม อาหารที่เข้าข่ายได้แก่ เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อติดมัน ไส้กรอก แฮม เนย ชีส เป็นต้น
2. เลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้คอเลสเตอรอลชนิด LDL เพิ่มขึ้น และลดคอเลสเตอรอลชนิด HDL ซึ่งเป็นไขมันชนิดที่ดี อาหารที่มีไขมันประเภทนี้สูงได้แก่ มาการีน ครีมเทียม ซึ่งมักเป็นส่วนผสมของขนมต่าง ๆ ที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างเค้ก พาย คุกกี้ เป็นต้น
3. เพิ่มการับประทานไขมันชนิดโอเมก้า-3 (Omega-3) ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน มีส่วนช่วยในการเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิด HDL ขณะเดียวกันยังช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิด LDL และไตรกลีเซอไรด์ ส่งผลดีต่อสุขภาพหลอดเลือดหัวใจและสมอง มักพบได้ในปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาทู ปลาอินทรี ปลากะพง เป็นต้น
4. เพิ่มการรับประทานใยอาหารชนิดละลายน้ำ (Soluble Fiber) ซึ่งมีประโยชน์ในการช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลและลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด อาหารประเภทนี้เช่น ถั่วแดง ถั่วดำ งาดำ ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง ข้าวบาร์เลย์ ลูกเดือย เป็นต้น
5. รับประทานโปรตีนให้เพียงพอ โปรตีนเป็นสารอาหารหลักที่มีหน้าที่สร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง รวมถึงซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย การได้รับโปรตีนที่เพียงพอควบคู่ไปกับการออกกำลังกายที่เหมาะสมจะช่วยสร้างและเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของระบบเผาผลาญ ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานได้ดีและช่วยเผาผลาญไขมันในร่างกายได้
6. จำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ในกระบวนการเผาผลาญแอลกอฮอล์ยังทำให้ร่างกายลดการเผาผลาญไขมันลง จึงควรงดดื่มแอลกอฮอล์ หรือหากไม่สามารถเลิกได้เด็ดขาด ควรดื่มในปริมาณเพียง 1 ดื่มมาตรฐานต่อวันเท่านั้น
นอกจากการปรับโภชนาการตามแนวทางข้างต้นแล้ว ยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่ควรให้ความสำคัญเพิ่มเติม เช่น การออกกำลังกาย การจัดการกับความเครียด รวมถึงเรื่องของการสูบบุหรี่ (ถ้ามี) ซึ่งหากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เป็นไปในแนวทางที่ดีขึ้นได้ ก็จะช่วยลดระดับไขมันในร่างกายได้ไม่ยากเย็นมากนัก
ด้วยความปรารถนาดี
Interpharma Thailand